ความเป็นมาของศูนย์

ความเป็นมาของศูนย์ข้อมูลข่าวสาร ส.ส.ท

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยประกอบกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 จึงได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับประชาชนเข้าตรวจดูข้อมูลข่าวสารของ ส.ส.ท. ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

วัตถุประสงค์

  1. เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนในฐานะหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
  2. สร้างความรู้ ความเข้าใจ แก่สาธารณชนในเรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในการดำเนินการขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)
  3. รวบรวม จัดเก็บ และบริหารจัดการข้อมูลตามที่พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540 กำหนดให้เป็นระบบสามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
  4. ดำเนินงานด้านการบริการ การจัดระบบ การขอ การอนุญาต ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ

ข้อมูลที่ให้บริการ

พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551, โครงสร้าง ส.ส.ท., รายงานประจำปี, รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. , ข้อบังคับจริยธรรม , ประกาศนโยบาย , ประกาศแต่งตั้ง และการจัดซื้อจัดจ้าง

ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ

ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของรัฐหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐหรือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเอกชน

วิธีปฏิบัติในการขอตรวจดูข้อมูลข่าวสาร

ด้วยพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของทางราชการไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เห็นสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการให้บริการข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนทั่วไป และเพื่อความสะดวกจึงได้กำหนดวิธีปฏิบัติในการขอตรวจดูข้อมูลข่าวสารของราชการ

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอ

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เป็นศูนย์กลางการให้บริการข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของ ส.ส.ท. แก่ ประชาชน นักเรียน นักศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแลและเจ้าหน้าที่ คอยให้บริการ และยังเป็นศูนย์กลางให้บริการและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นต่อการบริหารงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ส.ส.ท. ตลอดจนให้บริการสืบค้นข้อมูลข่าวสารที่ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องไว้ในระบบออนไลน์

พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เป็นกฎหมายที่รองรับ “สิทธิได้รู้” ของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนสามารถใช้สิทธิได้ตามกฎหมาย ดังนี้

  1. ขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
  2. สิทธิเข้าตรวจดูข้อมูลข่าวสารของทางราชการ บุคคลไม่ว่าจะมีส่วนได้เสีย เกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม ย่อมมีสิทธิเข้าตรวจดูสำเนา หรือขอสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 9 ได้
  3. สิทธิขอข้อมูลข่าวสารอื่นใดของราชการ นอกจากข้อมูลข่าวสารที่ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา หรือ ที่จัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้
  4. สิทธิที่จะได้รู้ถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน สิทธิในการขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่ไม่ถูกต้องตามที่เป็นจริง รวมทั้งมีสิทธิอุทธรณ์ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่ง ไม่ยินยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูลข่าวสารนี้
  5. สิทธิในการดำเนินการแทนผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือเจ้าของข้อมูลที่ถึงแก่กรรม
  6. สิทธิในการร้องเรียน เมื่อเห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่จัดพิมพ์ข้อมูลที่กำหนดไว้ ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า หรือ เห็นว่าตนไม่ได้รับความสะดวกโดยไม่มีเหตุอันควร
  7. สิทธิในการอุทธรณ์ เมื่อเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูล ข่าวสาร หรือมีคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้านของผู้มีประโยชน์ได้เสีย หรือไม่แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือ ลบข้อมูลข่าวสาร ตามที่มีคำขอ

โดยศูนย์ข้อมูลข่าวสาร องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ได้จัดเตรียมข้อมูลข่าวสารของราชการ , ผลการดำเนินงานของหน่วยงานไว้ให้ประชาชนได้สืบค้นภายในศูนย์ฯ และเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลข่าวสารภายใต้ข้อกำหนดของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ของ ส.ส.ท. ภายใต้ชื่อ www.thaipbs.or.th/PublicInfo ดังนี้

มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องส่งข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้ตามมาตรา 7 ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา คือ

7(1) โครงสร้างและการจัดองค์กรในการดำเนินการ
7(2) สรุปอำนาจหน้าที่ที่สำคัญและวิธีการดำเนินการ
7(3) สถานที่ติดต่อเพื่อขอข้อมูลข่าวสารหรือคำแนะนำในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ
7(4) กฎ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือเวียน ระเบียบแบบแผน นโยบายหรือการตีความ ทั้งนี้ เฉพาะที่จัดให้มีขึ้นโดยมีสภาพอย่างกฎ เพื่อให้มีผลเป็นการทั่วไปต่อเอกชนที่เกี่ยวข้อง
7(5) ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการกำหนด

มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 9 เพื่อให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการกำหนด ได้แก่ ต้องจัดให้มีสถานที่หรือศูนย์ข้อมูลข่าวสารและข้อมูลข่าวสารไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้โดยสะดวก ต้องจัดทำดัชนีหรือรายการข้อมูลข่าวสารที่มีรายละเอียดเพียงพอสำหรับประชาชนสามารถค้นหาข้อมูลข่าวสารได้ด้วยตนเอง ฯลฯ ในการจัดข้อมูลข่าวสารไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิ์ขอสำเนา หรือขอสำเนาที่มีการรับรองสำเนาถูกต้องได้ และหน่วยงานของรัฐต้องรวบรวมข้อมูลข่าวสารไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูอย่างน้อยตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

9(1) ผลการพิจารณาหรือคำวินิจฉัยที่มีผลโดยตรงต่อเอกชนรวมทั้งความเห็นแย้งและคำสั่งที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าว
9(2) นโยบายหรือการตีความที่ไม่เข้าข่ายต้องลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา
9(3) แผนงาน โครงการ และงบประมาณรายจ่ายประจำปีของปีที่กำลังดำเนินการ
9(4) คู่มือหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีผลกระทบถึงสิทธิหน้าที่ ของเอกชน
9(5) สิ่งพิมพ์ที่ได้มีการอ้างอิงถึงในราชกิจจานุเบกษา
9(6) สัญญาสัมปทาน สัญญาที่มีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนหรือสัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ
9(7) มติคณะรัฐมนตรี หรือมติคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยกฎหมายหรือโดยมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ให้ระบุรายชื่อรายงานทางวิชาการ รายงานข้อเท็จจริง หรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการ พิจารณาไว้ด้วย
9(8) ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการกำหนด

มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนตามที่ขอ โดยกำหนดเป็นหลักปฏิบัติว่า ถ้ามีผู้มาขอข้อมูลข่าวสารอื่นใดของราชการและคำขอของผู้นั้นระบุข้อมูลข่าวสารที่ต้องการในลักษณะที่อาจเข้าใจได้ตามควร ให้หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้แก่ผู้ขอในเวลาอันสมควร ซึ่งจะเห็นได้ว่ารูปแบบการจัดข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนตามมาตรานี้ เป็นการจัดหาข้อมูลข่าวสารให้กับผู้ขอเป็นรายกรณี ซึ่งมีความแตกต่างกันตามความต้องการของแต่ละคน ถือได้ว่าเป็นการจัดข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนเป็นการเฉพาะราย ตามมาตรานี้ มีความแตกต่างจาก 2 วิธีแรก ซึ่งมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าข้อมูลข่าวสารประเภทใดที่ต้องนำมาเปิดเผยโดยนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา และข้อมูลข่าวสารประเภทใด ที่จะต้องนำมาเปิดเผยโดยการจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ตลอดเวลา

ขั้นตอน ระยะเวลาการให้บริการ และเอกสารหลักฐาน

  1. ผู้ยื่นคำขอข้อมูลข่าวสาร กรอกคำร้องตามแบบคำร้องขอข้อมูลข่าวสาร ส.ส.ท.
  2. ยื่นแบบคำร้อง พร้อมเอกสารหลักฐาน ต่อเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ ณ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของ ส.ส.ท.
  3. เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ลงทะเบียนรับและตรวจคำร้องขอข้อมูลข่าวสารพร้อมเอกสารหลักฐาน
  4. เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เสนอแบบคำร้องพร้อมความเห็นต่อหัวหน้าศูนย์ฯ
  5. หัวหน้าศูนย์ฯ พิจารณาความเห็นของเจ้าหน้าที่ เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต

กรณีเป็นข้อมูลที่สามารถอนุญาตให้เปิดเผยได้

  1. หัวหน้าศูนย์มอบหมายผู้รับผิดชอบให้บริการสืบค้นข่าวสารตามแบบคำร้อง
  2. เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทำการสืบค้นข่าวสาร
  3. เมื่อเจ้าหน้าที่สืบค้นข่าวสารได้แล้ว ให้แจ้งต่อผู้ยื่นคำขอ กรณีต้องเสียค่าธรรมเนียม ให้ผู้ยื่นคำขอทำการชำระค่าธรรมเนียมและให้เจ้าหน้าที่สำเนาใบเสร็จรับเงินแนบคำร้องเป็นหลักฐาน ก่อนส่งมอบข่าวสารให้กับผู้ขอข้อมูลข่าวสาร
  4. กรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสืบค้นได้ทันที ให้แจ้งผู้ยื่นคำร้องทราบเพื่อนัดหมายให้มารับข้อมูลข่าวสาร หรือรับทราบผลการสืบค้น อย่างช้าภายใน 7 วัน
  5. เจ้าหน้าที่ค้นข่าวสารมอบเอกสารที่สืบค้นได้ให้ผู้รับบริการ
  6. เจ้าหน้าที่สืบค้นรายงานผลการปฏิบัติในแบบคำร้อง แล้วส่งกลับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เก็บรวบรวม

กรณีเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถเปิดเผยได้หรือไม่แน่ใจว่าจะเปิดเผยได้หรือไม่

  1. หัวหน้าศูนย์เสนอแบบคำร้อง ให้คณะกรรมการกำกับดูแลศูนย์ข้อมูลข่าวสารทราบและพิจารณาวินิจฉัย
  2. คณะกรรมการกำกับดูแลศูนย์ข้อมูลข่าวสารแจ้งผลการพิจารณา/วินิจฉัย แก่หัวหน้าศูนย์ฯ ภายใน 7 วันทำการ
  3. หัวหน้าศูนย์ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ยื่นคำร้องขอทราบภายใน 7 วันหรือมอบหมายเจ้าหน้าที่
  4. สืบค้นข้อมูลข่าวสารให้กับผู้รับบริการ ตามขั้นตอนกรณีผลการพิจารณาอนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้

เอกสารหลักฐาน

สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่แสดงตัวตน ที่ระบุเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

ระยะเวลาดำเนินการ

การเสนอและพิจารณาคำร้อง 10 – 15 นาที
การสืบค้นข่าวสารที่เปิดเผยได้ 15 – 30 นาที หรือ ภายใน 7 วันแล้วแต่ความยากง่ายของการสืบค้น